การท่องเที่ยวกลางแจ้งและใช้ชีวิตท่ามกลางธรรมชาติอย่างใกล้ชิดโดยการตั้งแคมป์หรือ camping กำลังเป็นกระแสมาแรงในหลายประเทศรวมทั้งไทย อีกทั้งยังเกิดเป็นรูปแบบใหม่ของการท่องเที่ยวกลางแจ้งโดยนำความหรูหราสะดวกสบายเหมือนอยู่โรงแรมเข้าไปในการตั้งแคมป์ กลายเป็นทางเลือกใหม่ของการแคมปิ้ง หรือที่เรียกว่า แกลมปิ้ง - glamping ซึ่งมาจากการผสมคำว่า glamourous กับ camping เข้าไปด้วยกันนั่นเอง ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวทุกเพศทุกวัยสามารถเข้าถึงการท่องเที่ยวแบบใกล้ชิดธรรมชาติได้ง่ายขึ้น แคมปิ้งและแกลมปิ้งจึงได้รับการตอบรับและเป็นที่นิยมมากขึ้น
ในงาน STYLE Bangkok 2024 นอกจากสินค้าไลฟ์สไตล์และแฟชั่นแล้ว ยังมีบูธสินค้าเกี่ยวกับแคมปิ้งและแกลมปิ้งที่น่าสนใจหลากหลายให้เลือกชม นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ยังร่วมกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO Bangkok) นำสองผู้เชี่ยวชาญขึ้นเวทีแบ่งปันข้อมูลและประสบการณ์สำหรับผู้ประกอบการและผู้สนใจในธุรกิจการท่องเที่ยว
คุณ Yukako Wakasugi, Vice President, JETRO Bangkok กล่าวว่าการท่องเที่ยวแบบแคมปิ้งในญี่ปุ่นเกิดขึ้นมานาน จากเดิมเป็นกิจกรรมสำหรับนักเรียน ปัจจุบันได้รับความนิยมจากทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวผู้หญิง และนักท่องเที่ยวที่เดินทางคนเดียว ซึ่งนอกจากจะส่งผลต่อการเติบโตของธุรกิจให้บริการด้านการท่องเที่ยวแล้ว ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการตั้งแคมป์และแฟชั่นเสื้อผ้าก็พลอยเติบโตตามไปด้วย อุปกรณ์สำหรับการตั้งแคมป์ไม่ว่าจะเป็นเต้นท์ ถุงนอน. ตะเกียง เตา กระบอกน้ำไปจนถึงสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ซึ่งเทรนด์สำหรับอุปกรณ์เหล่านี้จะต้องเป็นสไตล์มินิมอล (minimal) แข็งแรงทนทาน ใช้งานง่าย และพกพาสะดวก สมาคมแกลมปิ้งแห่งชาติของญี่ปุ่นนคาดว่าธุรกิจแกลมปิ้งจะมีมูลค่าตลาดถึง 100 พันล้านเยน และมีสถานที่ให้บริการรวมกว่า 500 แห่งทั่วประเทศ
คุณพชร ตรีทิพย์ธนากูล ซึ่งผันจากนักโฆษณา มาเป็นเจ้าของแบรนด์อะฮู AHU ซึ่งย่อมา “Active Homo sapiens union” ผลิตสินค้าที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตในป่า โดยออกแบบเองและให้ช่างฝีมือท้องถิ่นผลิตในลักษณะงานคราฟท์ เช่น ช้อน ส้อม ตะเกียบ ทัพพี วัสดุมีทั้งที่เป็นไม้สักและไทเทเนียม เขาให้ข้อสังเกต 8 เทรนด์ที่ต้องจับตาสำหรับธุรกิจแคมปิ้งและแกลมปิ้งในไทยดังนี้
1.Gorpcore เทรนด์การแต่งตัวจากเสื้อผ้าเดินป่ามาเป็นสตรีทแฟชั่นที่ใส่ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเน้นความสะดวกสบาย เช่นเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี กันน้ำ
2. Camping Tribes เกิดชุมชนของคนรักการแคมปิ้ง ยิ่งมีสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ก็ยิ่งทำให้เกิดการรวมตัวของคนที่ชื่นชอบในไลฟ์สไตล์เดียวกัน ตามมาด้วยกิจกรรมที่เพื่อสนองตอบคนชุมชน
3. Wilderness Therapy กิจกรรมเพื่อบำบัดจิตใจ ไม่ว่าจะเป็น digital detox, forest bathing, campfire talk โดยเฉพาะกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่กำลังแสวงหาตัวตนและให้คุณค่าทางจิตใจ
4. Cultural Immersion Camping การนำวัฒนธรรมท้องถิ่นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้ถึงการใช้ชีวิตกับธรรมชาติ ซึ่งทำให้การแคมปิ้งมีความหมายมากขึ้น
5. MYOG (Make Your Own Gear) การสร้างแบรนด์เล็กๆ ของตัวเองขึ้นเอง กำลังเป็นกระแสหลักในสหรัฐและญี่ปุ่น โดยผู้ผลิตมักถ่ายทอดการเดินทางของสินค้าในทุกขั้นตอนการผลิตทำให้ผู้สนใจสนับสนุนซื้อสินค้าดังกล่าว
6. Material and Artisans คนรุ่นใหม่จะให้ความสนใจกับแหล่งที่มาของวัตถุดิบและงานฝีมือมากขึ้น
7. Plug-ins & Extensions การออกแบบต่อเติมสินค้าที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์ใช้สอยมากขึ้น
8. Customization การปรับแต่งให้สินค้ามีความเป็นปัจเจก สอดคล้องกับรสนิยมและสไตล์ของตนเองมากขึ้น
งานแสดงสินค้าไลฟ์สไตล์และแฟชั่น STYLE Bangkok 2024 20 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-24 มีนาคม 2567 ที่ฮอลล์ 1-4 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์